วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จดหมายถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

พระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีไปถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาเผยแพร่ ดิฉันเห็นว่าข้อความในพระราชหัตถเลขา มีประโยชน์มากต่อการดำเนินชีวิต และจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงปฏิบัติธรรม และเข้าถึงธรรมขั้นสูงอย่างแท้จริง จึงได้คัดลอกนำมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้

ลูกพ่อ

ในพื้นแผ่นดินนี้ ทุกสิ่งเป็นของคู่กันมาโดยตลอด มีความมืดและความสว่าง ความดีและความชั่ว ถ้าให้เลือกในสิ่งที่ตนชอบแล้ว ทุกคนปรารถนาความสว่าง ปรารถนาความดีด้วยกันทุกคน แต่ความปรารถนานั้นจักสำเร็จได้ จักต้องมีวิธีที่จักดำเนินให้ไปถึงความสว่างหรือความดีนั้น ทางที่จักต้องไปให้ถึงความดีก็คือ รักผู้อื่น เพราะความรักผู้อื่น สามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ถ้าให้โลกมีแต่ความสุขและเกิดสันติภาพ ความรักผู้อื่นจักเกิดขึ้นได้ พ่อขอบอกลูกดังนี้

๑. ขอให้ลูกมองผู้อื่นว่าเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าอดีต...ปัจจุบัน...อนาคต
๒. มองโลกในแง่ดี และจะให้ดียิ่งขึ้น ควรมองโลกจากความเป็นจริง อันจักเป็นทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม
๓. มีความสันโดษ คือ มีความพอใจเป็นพื้นฐานของจิตใจ พอใจตามมีตามได้ คือ ได้อย่างไรก็เอาอย่างนั้น ไม่ยึดติด ขอให้คิดว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ พอใจตามกำลัง คือมีน้อยก็พอใจตามที่ได้น้อย ไม่เป็นอึ่งอ่างพองลม จะเกิดความเดือดร้อนในภายหลัง พอใจตามสมควร คือทำงานให้มีความพอใจเหมาะสมแก่งาน ให้ดำรงชีพให้เหมาะสมแก่ฐานะของตน
๔. มีความมั่นคงแห่งจิต คือให้มองเห็นโทษของความเกียจคร้าน และมองเห็นคุณประโยชน์ของความเพียร และเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ให้ภาวนาว่า ...มีลาภ มียศ สุข ทุกข์ ปรากฏ สรรเสริญ นินทา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เป็นกฏธรรมดา อย่ามัวโศกานึกว่า "ชั่งมัน"

พ่อ ๖/๑๐/๒๕๔๗

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชปรารภทิ้งท้าย

.....ฉันหวังว่า คำสอนของพ่อที่ฉันได้ประมวลมานี้ จะเกิดประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านที่ได้พบเห็น และลูกอันเป็นที่รักของพ่อทุกคน

ฉันรักพ่อฉันจัง
สิรินธร

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การทำบุญให้ทาน

ถ้าบุคคลจะทำบุญพึงทำบ่อย ๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญเป็นเหตุให้เกิดสุข

พระพุทธภาษิต

อภัยทาน

พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญ อภัยทาน ดังนั้น ถ้าผู้ใดทำผิดแล้วไม่ขอโทษ ท่านปรับอาบัติ แต่ถ้าเขาขอโทษแล้ว ผู้ถูกขอโทษไม่ให้อภัย ท่านปรับอาบัติเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อมีผู้มาขอโทษ เราควรให้อภัย

อีกประการหนึ่ง อภัย แปลว่า ไม่มีภัย ท่านจึงสอนให้เราไม่เบียดเบียนใคร นับเป็นอภัยทานด้วย

และการแผ่เมตตาจิตให้แก่ทุกคน สรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นการแผ่อภัยทานออกไป ทำให้เกิดความสุข

การให้อภัยเป็นของฟรี แต่ให้ยาก หากถ้าเราฝึกบ่อย ๆ เมตตาแก่ทุกคนว่าเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดนี้ แล้วจิตใจของเราจะอ่อนโยนลง สุขสงบ และให้อภัยได้

พระพุทธเจ้าทรงแสดง สุขสมุทัย เหตุแห่งสุข ๓ อย่าง
๑. พึงให้ทาน คือช่วยเหลือกัน
๒. พึงสุจริต ประพฤติสุจริต
๓. พึงเจริญเมตตาจิต

รวมแล้วมี ๓ อย่าง ข้อแรกคืิอทาน สุจริตคือศีล เจริญเมตตาจิตคือ ภาวนา ทำครบ ๓ อย่างแล้วจะมีความสุข

การทำสังฆทาน

สังฆทาน คือ การถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสงฆ์ โดยไม่เจาะจงว่าจะเป็นพระรูปใด

การให้โดยเจาะจงว่าเป็นพระรูปนั้น ๆ เรียกว่า ปาฏิปุคลิกทาน ได้บุญเหมือนกัน แต่ได้บุญน้อยกว่าสังฆทาน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ทานที่ให้เจาะจง เรากล่าวว่าเป็นปาฏิปุคลิกทาน ปาฏิปุคลิกทานใด ๆ จะมีผลเท่าสังฆทานไม่ได้เลย"

เมื่อเราไม่ได้เจาะจงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะแล้ว ก็ถือเป็นสังฆทานทั้งสิ้น เรียกว่ามีการเจาะจงหรือไม่เจาะจงเป็นใจความสำคัญของสังฆทาน

ตอนเช้า ตักบัตรให้พระ ๑ รูป ที่บิณฑบาตผ่านมา ก็เป็นสังฆทาน
ตอนสาย ไปวัด หย่อนเงินลงตู้ทำบุญค่าน้ำค่าไฟ ก็เป็นสังฆทาน เพราะให้พระใช้ได้ทั้งวัด ไม่เลือกพระองค์ใด
ตอนเพล พระนั่งล้อมวงเป็นร้อยรูป ญาติโยมไปใส่บาตรให้ท่าน ๓ องค์บ้าง ๕ องค์บ้าง หรือทั้งร้อย ก็เป็นสังฆทาน

อยากทำบุญด้วยผ้าไตรสักชุดหนึ่ง ก็จัดเตรียมแล้วไปหาพระ เมื่อพบองค์ใดก็ถวายท่าน ก็สำเร็จเป็นสังฆทาน

สังฆทาน อยู่ที่เจตนาเจาะจงหรือไม่เจาะจง ไม่ได้อยู่ที่จำนวนพระ และไม่ได้อยู่ที่รายชื่อสิ่งของ บางคนคิดว่าการถวายสังฆทาน คือต้องเป็นถังสีเหลือง ใส่ข้าวสาร ผงซักฟอก ไม่ขีัดไฟ สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ นั้นเป็นเพียงของสำเร็จรูปที่คนค้าขายเขาจัดไว้ให้เพื่อขายเท่านั้น ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้บางทีมีมากมายจนล้นเหลือ พระไม่ได้ใช้ บุญก็ไม่เกิดแก่ผู้ให้ แต่พระต้องใช้น้ำใช้ไฟ การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่ายารักษาโรค จึงเป็นบุญ เพราะมีประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยรวม

ในการทำสังฆทาน ท่านสอนให้เรา "ทำใจให้ยินดีในบุญกุศล ไม่ให้ยินดีในบุคคลผู้รับ ทำใจให้ตรงแน่วต่อคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ทานอย่างนี้มีผลมาก เพราะเป็นการขัดเกลาจิตใจของตนไปด้วย" ที่ท่านสอนเช่นนี้ เพราะเราชอบมัวแต่ละล้าละลัง กังวลว่าผู้รับจะดีหรือไม่อย่างไร คือกลัวมาทำให้บุญเรามีตำหนินั่นแหละ (ที่แท้ก็รักตัวเอง) เลยเศร้าหมอง ท่านจึงสอนให้เพ่งที่ได้ทำบุญกุศล ได้ขัดเกลาจิตใจตนเองเป็นหลัก

ให้อะไรได้อะไร โดย อ.วิศิน อินทสระ

ให้อะไรได้อะไร

เทวดาทูลถามพระพุทธองค์ว่า ให้อะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้อะไรชื่อว่าให้ผิวพรรณ ให้อะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้อะไรชื่อว่าให้จักษุ ให้อะไรชื่อว่าให้ทุกอย่าง

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ผู้ให้ข้าว(น้ำ) ชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีป (ไฟ) ชื่อว่าให้จักษุ ให้ที่อยู่อาศัย ชื่อว่าให้ทุกอย่าง ผู้ใดสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย (อมตะ)

(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๑๓๗-๑๓๘)

๑. ผู้ให้ข้าวน้ำชื่อว่าให้กำลัง

ข้าวน้ำ หรืออาหารเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เมื่อขาดอาหารก็ขาดกำลัง ถ้าขาดหลาย ๆ วัน กำลังก็สิ้นไป ถึงกับต้องสูญเสียชีวิตก็มี ก่อนจะสิ้นชีวิตก็มีความทุกข์ทรมานมาก เพราะความหิวโหยอ่อนเพลีย ความจำเสื่อม ความรู้สึกฟั่นเฟือน เพราะขาดอาหารที่เปลี่ยนเป็นเลือดและน้ำตาลไปเลี้ยงสมอง ความหิวเป็นโรคอย่างหนึ่ง และเป็นโรคประจำตัวของทุกคนที่รักษาไม่หายขาด ทำได้แต่เพียงบำบัดให้ทุเลา หรือหายไปเป็นครั้งคราวเท่านั้น วันหนึ่ง ๆ จะต้องบำบัดกันถึง ๒-๔ ครั้ง หรือมากกว่านั้น และจะต้องทำไปตลอดชีวิต ยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งต้องการอาหารที่ละเอียดประณีตมากขึ้น และอาจบ่อยขึ้นด้วย เพื่อไปซ่อมแซมอวัยวะที่สึกหรอทรุดโทรม เหมือนเครื่องยนต์เก่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามากขึ้น เปลืองไปทุกอย่างทั้งน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบนซินและค่าซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมอื่น ๆ ความหิว ความต้องการอาหารจึงเป็นโรคประจำตัวของคนทุกคน พระพุทธเจ้าตรัสว่า

"ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง" (ชิคัจฉา ปรมา โรคา)

สำหรับผู้สูงอายุ โดยหลักโภชนาการที่ถูกต้องแล้ว ควรบริโภคอาหารให้น้อยลง เพราะไม่จำเป็นต้องบริโภคเพื่อความเจริญเติบโตของร่างกายแล้ว และควรเลือกบริโภคอาหารอ่อน ย่อยง่าย ไม่เป็นอาหารที่มีรสจัด การบริโภคมากเกินความต้องการของร่างกายทำให้อ้วนมากเกินไปจนเป็นโรคอ้วน ซึ่งโดยปกติธรรมดา เมื่ออ้วนแล้วลดได้ยาก บางคนลดได้ แต่ต้องใช้กำล้ังใจควบคุมตัวเองอย่างแรงทีเดียว บางคนผอมเพราะขาดอาหารอันจำเป็นเท่าที่ร่างกายต้องการ แต่บางคนผอมเอง แม้จะบริโภคมากพอสมควรก็ไม่อ้วน อยากให้อ้วนพยายามกินอาหารกินยาเท่าไร ๆ ก็ไม่อ้วน อันนี้ไม่ทราบเพราะอะไร

อย่างไรก็ตาม ทุกคนเป็นอยู่ได้ด้วยอาหาร (สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา) เมื่อได้อาหารที่ถูกต้องเหมาะสมก็ทำให้มีกำลังเพื่อดำรงชีวิตอยู่และประกอบกรณียกิจอันเป็นหน้าที่ของตน การให้อาหาร จึงชื่อว่าเป็นการให้กำลังและให้ชีวิตด้วย

๒. ผู้ให้เสื้อผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ

เสื้อผ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับชีวิตเพื่อบำบัดความหนาวร้อนเป็นต้น เมื่ออากาศภายนอกหนาวจัด การได้เสื้อผ้าที่เหมาะสม ย่อมทำให้ร่างกายอบอุ่นมีความสุข ถ้าไม่ได้จะทำให้ผิวแตกและอาจทำให้เกิดโรคหลายอย่าง เช่น โรคหวัด โรคปอดบวม เป็นต้น เมื่อร้อนจัดเพราะแดดแรง เสื้อผ้าช่วยป้องกันการไหม้เกรียมของผิวหนัง และการลอกของผิวหนังได้ สำหรับผู้อยู่ในที่แจ้ง เืสื้อผ้าช่วยป้องกันสัตว์ร้ายที่จะมารบกวน เช่น เหลือบ ยุง บุ้ง ริ้น ตลอดถึงสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ เช่น ตะขาบและงูพิษ เป็นต้น

นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว เสื้อผ้าที่สวยงามทำให้ผิวพรรณของผู้สวมใส่ดูเปล่งปลั่ง มีสง่าราศี มีเสน่ห์ ผิดกับผู้ที่ีใส่เสื้อผ้ากระมอมกระแมม เรื่องนี้เป็นที่ปรากฏชัดเจนแก่คนทุกคนอยู่แล้ว สตรีโดยทั่วไป รักสวยรัุกงาม จึงสนใจพิถีพิถันเรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ยิ่งกว่าชาย การได้เสื้อผ้าที่สวยงามเป็นความพอใจอย่างยิ่งอย่างหนึ่งของหญิง ในหลักการสงเคราะห์ภรรยา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สามีให้เครื่องแต่งกายแก่ภรรยาด้วย แต่สามีส่วนมากก็มักละเลยข้อนี้เสีย นอกจากผลดีในปัจจุบันดังกล่าวแล้ว การให้เสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มเช่นจีวรแก่พระภิกษุผู้มีศีล ยังจะส่งผลให้เป็นคนสวย มีผิวพรรณงามในชาติหน้าอีกด้วย เช่น อุมมาทันตี ในอุมมาทันตีชาดกเป็นต้น นางอุมมาทันตี เกิดมาเป็นคนสวยมาก มีผิวพรรณงาม ใครเห็นใครหลง เพราะอานิสงส์ที่เคยถวายจีวรแก่ภิกษุรูปหนึ่ง

๓. ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข


การเดินทางไกลต้องอาศัยยานพาหนะ เช่น รถ เรือ เป็นต้น ถ้าไม่ได้ยานเช่นนั้น การเดินทางด้วยเท้าลำบากมาก เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า โดยเฉพาะผู้มีกำลังน้อย เช่น เด็กและคนชรา บางคนถึงเท้าแตก พองเป็นแผลเดินต่อไปไม่ได้ เป็นลมสิ้นสติไปก็มี การเดินทางไกลเป็นความทุกข์ทรมานอย่างหนึ่ง แต่ถ้าได้ยานพาหนะที่เหมาะสมก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้มาก แม้จะนั่งไปแต่ถ้านานเกินไป เป็นวันเป็นคืนก็เป็นความทุกข์อยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงต้องเดิน รองเท้าท่านจัดเป็นยานอย่างหนึ่งเหมือนกัน การเดินเท้่าเสี่ยงอันตรายมาก ร้อนเท้าเมื่อแดดจัด หนาวเท้าเมื่อฝนตกหรือผ่้านที่แฉะ นอกจากนี้ อาจเหยียบเศษแก้ว หนาม หรือแม้ก้นบุหรี่ที่มีผู้โยนทิ้งไว้ ทำให้เท้าพุพองเป็นแผลและเป็นทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

มนุษย์คงได้เห็นความทุกข์ยากลำบากในการเดินทางมามากต่อมากแล้ว จึงได้คิดทำยานพาหนะชนิดต่าง ๆ ขึ้น และได้วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนถึงยานอวกาศในเวลานี้ เดินทางได้อย่างรวดเร็วทันใจ แต่มีอันตรายแฝงอยู่ด้วยมิใช่น้อย

การเดินทางโดยอาศัยยานพาหนะ ย่อมก่อให้เกิดความสุขกว่าการเดินด้วยเท้า เพราะฉะนั้นการให้ยานชื่อว่าให้ความสุข ร่มจัดเป็นยานอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะเป็นเครื่องมือในการเดินทาง ผู้หวังความสุข จึงควรเอื้อเฟื้อผู้อื่นด้วยยานพาหนะตามสมควร เช่น ช่วยรับส่งผู้อื่น ให้รองเท้า ให้ร่มเป็นต้น เมื่อสิ่งนั้ินไปให้ความสุขแก่ผู้อื่น ความสุขนั้นย่อมยอกย้อนมาหาผู้ทำ สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า

"สุขัสส ทาตา เมธาวี สุขัง โส อธิคัจฉติ - ผู้มีปัญญาให้ความสุข (แก่ผู้อื่น) เขาย่อมได้รับความสุขเป็นสิ่งตอบแทน"

๔. ให้ประทีป (แสงสว่าง) ชื่อว่าให้จักษุ

เมื่อเราอยู่ในที่มืด เราจะมองไม่เห็นอะไร แม้มีตาดีก็ตาม แสงสว่างทำให้เรามองเห็นรูปหรือวัตถุต่าง ๆ ได้ แสงสว่างนั้นเกิดจากหลายอย่าง เช่น จากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ไฟฟ้า ไฟที่อาศัยเชื้ออื่น ๆ อีกมาก ซึ่งทำให้เกิดแสงสว่างได้ เมื่อมีแสงสว่างและบุคคลมีจักษุดีย่อมสามารถเห็นรูปได้ การให้แสงสว่าง เช่น ประทีป
โคมไฟ ไฟฉาย ไฟฟ้า เป็นต้น จึงชื่อว่าให้จักษุ อนึ่ง แม้มีแสงสว่างอยู่ แต่บุคคลไม่มีจักษุ คือตาบอด ก็ย่อมไม่เห็นอะไรเหมือนกัน การเห็นจึงต้องอาศัยจักษุและแสงสว่างทั้งสองอย่าง

แสงสว่างคือพระธรรมของพระพุทธเจ้า หรือของท่านผู้รู้ทั้งหลาย จะช่วยทำให้เกิดจักษุภายในหรือตาใน เรียกว่า ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัญญาจักษุ ดวงตาคือปัญญา การให้ธรรมและการให้ปัญญาจึงเป็นการให้จักษุเหมือนกัน แต่เป็นธรรมจักษุและปัญญาจักษุ

ในสมัยปัจจุบัน ไฟฟ้าเป็นแสงสว่างที่ใช้กันทั่วไป การบริจาคทรัพย์เพื่อเสียค่าไฟฟ้า จึงเป็นการให้แสงสว่างแก่ผู้อื่น ความสว่างไสวแห่งชีวิตจิตใจย่อมมีแก่ผู้ให้

๕. ให้ที่อยู่อาศัยชื่อว่าให้ทุกอย่าง

ที่อยู่อาศัยที่ดีช่วยคุ้มแดดฝน คุ้มสัตว์ร้าย ช่วยให้ปลอดภัยทุกอย่าง เป็นที่เก็บข้าว น้ำ เสื้อผ้า อาหารชนิดต่าง ๆ ทำให้อยู่เป็นสุข การให้ที่อยู่อาศัยจึงชื่อว่าให้ทุกอย่าง อนึ่ง เสนาสนทาน คือการให้ที่อยู่ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่า เลิศ หรือมีอานิสงส์ยิ่งกว่าอามิสทานใด ๆ บรรดาการให้ปัจจัย ๔ เสนาสนทานเป็นเลิศ

อาจเป็นด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนไทยจึงนิยมสร้างเสนาสนะอุทิศสงฆ์ ซึ่งจรจากทิศต่าง ๆ เช่น กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ โบสถ์ และศาลาพักคนเดินทาง เมื่อสร้างเสนาสนะแล้วก็บริจาคปัจจัุยอื่น ๆ เป็นบริวาร เช่น อาหาร จีวร ยารักษาโรค ประทีป โคมไฟ เป็นต้น นี่ก็พออธิบายได้ว่า การให้ที่อยู่อาศัยเป็นการให้ทุกอย่าง

ต่อไปนี้เป็นมติของพระอรรถกถาจารย์

พระอรรถกถาจารย์ ผู้อธิบายพระสูตรนี้ได้อธิบายว่า ผู้ให้ที่อยู่อาศัยชื่อว่าให้ทุกอย่าง มีการให้กำลังเป็นต้น เช่น เมื่อภิกษุเดินบิณฑบาตไป ๒-๓ บ้านแล้วไม่ได้อะไรกลับมาวัด อาบน้ำเสร็จแล้วเข้าไปในที่พักอาศัย นอนพักบนเตียงเสียสักครู่หนึ่งแล้วลุกขึ้นนั่ง ย่อมได้กำลัง (เสนาสนะ ให้กำลังแทนข้าวน้ำ)

เมื่อออกไปภายนอก ร่างกายถูกลมแดด ย่อมทำให้ผิวพรรณคล้ำไป เมื่อกลับมาจากข้างนอกแล้ว ผิวชุ่มเย็นดีย่อมผ่องใส (เสนาสนะให้ผิวพรรณ)

เมื่อออกไปภายนอก ย่อมเสี่ยงอันตรายหลายอย่างเช่น อันตรายจากหนาม ตอไม้ งูและโจร เป็นต้น แต่เมื่อเข้าอยู่ในที่พักอาศัยแล้ว อันตรายเหล่านั้นย่อมไม่มี เมื่อท่องบ่นพระธรรมวินัยอยู่ ปีติสุขย่อมเกิดขึ้ัน เมื่อมนสิการกรรมฐาน ความสุขสงบย่อมเกิดขึ้น (เสนาสนะให้ความสุึข)

เมื่อออกไปภายนอก ร้อนจนเหงื่อไหล นัยน์ตาฝ้าฟาง กลับเข้ามาพักในที่อยู่อาศัยเสียสักระยะหนึ่ง ตาก็แจ่มใสขึ้น (เสนาสนะให้จักษุ)

เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ผู้ใดให้ที่อยู่อาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้ทุกอย่าง คือให้กำลัง ผิวพรรณ ความสุข และดวงตา

๖. ผู้สอนธรรม ชื่อว่าให้สิ่งไม่ตาย (อมตะ)

การให้ปัจจัย ๔ คือ อา่หาร เครื่องนุ่งห่ม เสนาสนะ และยารักษาโรค แม้จะดีวิเศษอย่างไร ก็ไม่พ้นต้องเวียนเกิดเวียนตาย และเวียนทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้นในสังสารวัฏไม่สิ้นสุด จนกว่าจะได้รู้ธรรมอันเป็นเครื่องอาศัยออกจากวัฏฏะ ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายและเวียนทุกข์อีกต่อไป เมื่อไม่เกิดก็ไม่ตาย การไม่เกิดนี้ เพราะไม่มีกิเลสคื่อตัณหาอันนำไปสู่ภพ การสิ้นตัณหาต้องอาศัยการฟังธรรมประพฤติธรรมเพื่อละตัณหา เช่น การสำรวมอินทรีย์ ๖ เป็นต้น ผู้สอนธรรมเพื่อดับตัณหาเป็นต้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ให้สิ่งที่ไม่ตาย (อมตธรรม)

ความเิกิดเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความต้องพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ เป็นต้น เพราะความเกิดเป็นเหตุ จึงมีรายละเอียดแห่งทุกข์อื่น ๆ ติดตามมาเป็นขบวนยาวเหยียด

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

จิต มาร กิเลส โดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ผู้เขียนเห็นว่าบทความธรรมะนี้น่าสนใจ สามารถนำมาใช้ขัดเกลากิเลสได้ และเป็นหนทางนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้บ้างไม่มากก็น้อย จึงคัดลอกนำมาเผยแผ่ต่อเพื่อเป็นธรรมทานค่ะ

จิตไปเร็วมาก เจ้าของตามไม่ทันไปทุกขณะ ดังนั้น คนเลยทำชั่ว ปล่อยให้กิเลสพาไป ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดจาหยาบคาย ส่อเสียดให้คนอื่นเดือดร้อน ดื่มสุรา

ความชั่วมี ความดีมี จิตมีสิทธิ์ที่จะเลือก ถ้าจิตฉลาด ก็เลือกเอาบุญกุศล ถ้าไม่ฉลาด ก็เลือกเอาเรื่องชั่ว พอใจทำชั่ว
จิตไม่ฉลาด ไม่สามารถสร้างหรือหาข้าวของของตัวเอง ก็ไปฉกฉวยเมื่อเห็นของของผู้อื่น ในโลกสมมุตินี้ กลับเห็นผู้ฉกฉวย หลอกคนอื่นได้ เป็นคนฉลาด โลกก็เป็นอย่างนี้


แต่ในทางธรรมะ ถ้าไปทำให้คนอื่นทุกข์เดือดร้อน กรรมนั้นก็จะตามสนอง ให้ต้องถูกหลอก โดนต้มตุ๋น ต้องเสียใจ
คับอกคับใจ เกิดชาติใดก็จะเป็นอย่างนั้น


พระพุทธองค์ทรงสอนให้คนฉลาด มีปัญญา ไม่สอนให้โง่เขลาเบาปัญญา
คำสอนล้วนแต่ทำให้เกิดปัญญา แนะนำให้คนฝึกตน อย่าปล่อยตนให้ไหลไปตามอำนาจของกิเลส


ทูรังคะมัง เอกะจะรัง คูหาสะยังฯลฯปกติของจิตนั้น เที่ยวไปไกล มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อาศัย ใครสำรวมจิตใจตนให้ดีก็จะพ้นจากบ่วงแห่งมาร

สิ่งที่ยิ่งทำให้โลภ โกรธ หลง ก็คือ
มาร เมื่อพิจารณารู้แล้วต้องไม่หลงใหลไปตามมายาของกิเลสนั้น
เมื่อมีอะไรมากระทบก็อย่าวู่วาม ให้มีสติสัมปชัญญะสกัดกั้นจิตใจไว้

มีอะไรมากระทบใจ ก็ อดทนก่อน ถ้าไม่อดทนก็จะมีเรื่อง อย่างมีคดีกัน ฟ้องกัน เสียเงิน เสียเวลา ไปศาลทีไรก็เสียเงินทุกที ไม่ฉลาด ถ้าฉลาดโจทก์กับจำเลยควรมาพูดคุยกัน ตกลงกัน สมยอมกัน ยอมสละกันบ้าง การว่าความในโรงศาลไม่ใช่ของดี ทำให้เสียเงินทอง เสียเกียรติยศชื่อเสียง

พระพุทธองค์จึงสั่งสอนให้สำรวมจิต ซึ่งจะทำให้มาร คือ ความชั่วทั้งหลายมาหลอกลวงยั่วยวนไม่สำเร็จ
เพราะว่าจิตรู้เท่าทัน เมื่อจิตตั้งมั่น ก็เกิดปัญญา


ดังนั้น อย่าปล่อยให้จิตไหลไปตามกระแสโลก จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาก่อน จะทำ จะพูด จะคิด ก็สำรวมจิต รักษาจิตให้ดี มารหรือความชั่ว ก็มาลบล้างหรือทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัวไม่ได้

ขอให้เข้าใจว่า ความชั่วทั้งหลาย (โลภ โกรธ หลง) คือตัวมาร ใครล่วงความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็เข้าใจผิด เดินทางผิด เห็นผิดเป็นชอบไป การขอหวย รวยเบอร์ บนบาน ไม่ได้อะไร นี่เรียกว่า ความหลง

ดังนั้น สำรวมตัวเองให้ดี ไม่ปล่อยให้ความชั่วจูงจิตใจไป เท่านี้ก็มีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว